ตู้ยาแก้ปวดในอดีต

Last updated: 17 ม.ค. 2563  |  5387 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตู้ยาแก้ปวดในอดีต

ตู้ยาแก้ปวดในอดีต

ยาแก้ปวดในอดีตมีหลายยี่ห้อและเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเพราะในสมัยอดีตเมื่อซัก 40 กว่าปีที่ผ่านมานั้น ยาไม่ได้มีหลากหลายชนิดและไม่ได้ซื้อกันได้ง่ายดายเช่นในปัจจุบัน ยาแก้ปวดในอดีตอาทิเช่น ยาทันใจ ยาปวดหาย ยาประสระนอแรด ยารวดเร็ว ยาทันที ยาแอสโปร และยาแก้ปวดตราหัวสิงห์ ก็คือยาแอสไพรินชนิดผง ซึ่งมีฤทธิ์ในการลดไข้ แก้ตัวร้อน แก้อาการปวดทุกชนิด เช่นปวดหัว ปวดหู ปวดตา ปวดฟัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดประจำเดือน และปวดแผล เป็นต้น แถมยังมีฤทธิ์เป็นยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ นอกจากนั้นยังป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดสมองและหัวใจอีกด้วย ยาแก้ปวดเหล่านี้บางยี่ห้อมีการผสมคาเฟอีนเข้าไปอยู่ในสูตรยาเพื่อเพิ่มการดูดซึมของแอสไพรินได้อีกด้วย อาทิเช่นยาทันใจ เป็นต้น ในอดีตบางท่านเวลาลูกหรือตนเองปวดฟันก็จะเอายาแอสไพรินผงพวกนี้ไปใช้อุดฟันแก้ปวดก็มี อาทิเช่น ยาประสระนอแรด ซึ่งหลายๆท่านบอกว่ารสชาติดีกว่ายาทันใจ ทั้งนี้เพราะมีรสหวานนั่นเอง

  

ยาแก้ปวดในอดีตพวกนี้มีมากว่า 60 ปีมาแล้ว อาทิเช่นยาประสระนอแรดซึ่งผลิตโดย บริษัท เทวกรรม โอสถ จำกัด ซึ่งตั้งในปีพ.ศ. 2480 (กว่า 80 ปีมาแล้ว) โดยพันตรีหลวงสิทธิโยธารักษ์ (ทองม้วน อินทรทัต) แพทย์แผนปัจจุบัน ชั้น 1 ยาประสระนอแรดนี้ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นยาประสระบอแรด จนถึงปัจจุบัน ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ของกระทรวงสาธารณสุข มาตรา 83(4) ที่ระบุว่า”ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่รับขึ้นทะเบียนตำรับยา เมื่อคณะกรรมการเห็นว่าเป็นยาที่ใช้ชื่อโอ้อวด ไม่สุภาพ หรืออาจทำให้เข้าใจผิดจากความเป็นจริง” นั่นเอง ทั้งนี้ตามข้อกล่าวหาว่าโฆษณาเกินจริง อันเนื่องมาจากคำว่าประสระหมายถึงการมีส่วนผสมกึ่งหนึ่ง ประสระนอแรดจึงต้องมีส่วนประกอบเป็นนอแรดอยู่กึ่งหนึ่งนั่นเอง ซึ่งมิได้เป็นความจริง กระทรวงสาธารณสุขจึงให้เปลี่ยนชื่อยาให้ไม่เกินความจริง ต่อไป ซึ่งถึงแม้จะมีการเปลี่ยนชื่อยี่ห้อยาไป แต่ความนิยมของผู้บริโภคหาได้เปลี่ยนแปลงไปไม่ทั้งนี้เพราะยามีรสหวานอันเนื่องมาจากน้ำตาลแลคโตส และซักกาลิน โดยไม่มีส่วนผสมของคาเฟอีนจึงทำให้รับประทานง่ายนั่นเอง

ยาแก้ปวดชื่อดังอีกยี่ห้อหนึ่งที่ก่อตั้งมานานมากก็คือยาทันใจ ซึ่งผลิตโดยโอสถสถานเต็กเฮงหยู ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนเจริญกรุง ใกล้สี่แยก เอส. เอ. บี. ในปีพ.ศ. 2475 โดยนายสวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ และต่อมาเมื่อมีการขยายการผลิตจึงได้มีการสร้างโรงงานขึ้นที่ซอยหลังสวน และทำการจดทะเบียนบริษัทและเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท โอสถสภา (เต็กเฮงหยู) จำกัด เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 ยาทันใจนี้ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นยาทัมใจจนถึงปัจจุบัน ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 เช่นเดียวกับยาประสระนอแรดที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้