Big X : ของเล่นราคาเรือนแสน

Last updated: 23 ก.พ. 2563  |  2712 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Big X : ของเล่นราคาเรือนแสน

Big X : ของเล่นราคาเรือนแสน
โดย ดร.นภดล กรณ์ศิลป

  ของเล่นสังกะสี (Tin Toy) เป็นของเล่นที่ผลิตมาจากแผ่นสังกะสี (Tin plate) เพื่อนำมาทดแทนการทำของเล่นด้วยไม้ (Wooden Toy) ทั้งนี้เพราะสังกะสีมีความคงทนและถูกกว่าการทำของเล่นด้วยไม้ นอกจากนี้ด้วยการคิดค้นเครื่องปั้มแผ่นสังกะสีเป็นรูปแบบต่างๆขึ้นมาได้ในปี ค.ศ.1815 ยิ่งทำให้เกิดกระบวนการผลิตอย่างเป็นล่ำเป็นสันอันส่งผลให้ราคาในการผลิตถูกลงอย่างมาก จึงเป็นเหตุให้มีการนำแผ่นสังกะสีมาใช้แทนไม้ในการผลิตของเล่นนั่นเอง โดยในยุคแรกๆ พบว่าประเทศที่ผลิตและมีหลักฐานในการผลิตที่ชัดเจนประเทศแรกคือประเทศเยอรมัน (ประมาณ ค.ศ.1850) โดยในช่วงแรกจะลงสีของเล่นที่ทำขึ้นนี้ด้วยมือ ต่อมาในปีค.ศ.1880 ตอนปลายได้มีการนำกระบวนการพิมพ์หิน (Offset Lithography) มาใช้ในการลงสีของเล่นสังกะสีและเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในยุคดังกล่าว เราเรียกของเล่นสังกะสีในยุคนั้นว่า ของเล่นสังกะสีแบบพิมพ์หิน (Tin Lithograph Toy) ซึ่งในปัจจุบันนักสะสมของเล่นสังกะสีนิยมเสาะหากันอย่างมาก

  หากจะพูดถึงแง่ประวัติศาสตร์ของของเล่นสังกะสีอีกสักนิดพบว่าเยอรมันเป็นประเทศผู้ผลิตของเล่นสังกะสีรายสำคัญที่สุดของโลก ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยผู้ผลิตของเล่นสังกะสีรายใหญ่ที่สุดในเยอรมันก็คือ Ernst Paul Lehmann ซึ่งผลิตถึง 90% ของของเล่นสังกะสีในเยอรมัน หลังจากนั้นฝรั่งเศสและอังกฤษก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในการผลิตของเล่นสังกะสีและเริ่มมีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านนี้บ้าง คราวนี้มาดูการผลิตของเล่นจากแดนอเมริกากันบ้าง ในความเป็นจริงแล้วอเมริกาได้มีการผลิตของเล่นสังกะสีอยู่บ้างแต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นล่ำเป็นสันจนกระทั่งมีการเปิดเหมืองสังกะสีขึ้นในรัฐอิลลินอยส์ ผู้ผลิตของเล่นสังกะสีหลายรายเปิดตัวและผลิตของเล่นออกมาในยุคต้นศตวรรษที่ 20 แต่อย่างไรก็ตามไม่สามารถแข่งขันกับของเล่นสังกะสีจากเยอรมันที่ครองตลาดโลกอยู่ได้ จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เริ่มมีกระแสการแอนตี้เยอรมัน ทำให้ของเล่นสังกะสีของเยอรมันได้รับผลกระทบและยอดขายตกต่ำลงอย่างรุนแรง นี่เป็นเหตุผลข้อหนึ่งที่ทำให้ยอดการขายของเล่นสังกะสีของอเมริกากระเตื้องขึ้นจนในช่วงค.ศ.1920 ของเล่นสังกะสีจากอเมริกาจึงผงาดขึ้นสู่ระดับโลกเบียดเยอรมันจนตกไปได้ บริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกาที่ผลิตของเล่นสังกะสีและประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วง ค.ศ.1920 จนถึงช่วง ค.ศ.1960 คือ บริษัท Louis Marx and Company อย่างไรก็ตามธุรกิจของเล่นสังกะสีนั้นได้หยุดชะงักไปช่วงหนึ่งกล่าวคือ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ.1939 - 1945) อันเนื่องมาจากภาวะสงครามและการขาดแคลนวัตถุดิบ อย่างไรก็ตามหลังภาวะสงคราม ของเล่นสังกะสีกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง และในช่วงเวลานี้เองอังกฤษโดยบริษัท Chad Valley Toy และของเล่นสังกะสีจากญี่ปุ่นมีการผลิตเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก โดยในช่วงหลังสงครามโลกญี่ปุ่นต้องจ่ายค่าปฏิกรณ์สงครามและจากนโยบาย Marshall Plan ที่ช่วยให้ญี่ปุ่นมีทุนในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ของเล่นสังกะสีจากญี่ปุ่นจึงได้รับความนิยมมาจนกระทั่งปลายยุค 1950 แต่ทว่าในช่วงยุค 1960 จากการคิดค้นพลาสติคที่มีราคาถูกกว่ารวมทั้งกฏระเบียบด้านความปลอดภัยของภาครัฐ ส่งผลให้ยุคทองของของเล่นสังกะสีต้องจบลง โดยการทดแทนเข้ามาของยุคของเล่นพลาสติกนั่นเอง

  คราวนี้มากล่าวถึงของเล่น Big X ที่นำเสนอในบทความนี้กัน Big X เป็นภาพยนตร์ซีรีส์การ์ตูนญี่ปุ่นที่เขียนโดย Osamu Tesuka ในปี ค.ศ.1963 โดยอ้างว่าเขียนมาจากการทดลองจริงทางชีวภาพของกองทัพนาซี เพื่อสร้างอาวุธพิเศษในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่สอง ของเล่นสังกะสี Big X ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมีผู้ผลิตหลายค่าย เช่น ค่าย Tada และค่าย Bandai (ก่อนมาเป็น Popy) เป็นต้น

  สำหรับของเล่นสังกะสีไขลาน Big X ที่นำเสนอในบทความนี้ผลิตโดยบริษัท Tada ประเทศญี่ปุ่น ในปี ค.ศ.1964 โดยตัวของเล่นมีความสูง 32 เซนติเมตรและหนัก 339 กรัม ระบบกลไกบังคับการทำงานใช้ระบบการไขลาน (2 รูปบน : ตัวขายาว)

  ส่วนของเล่นสังกะสีไขลาน Big X ในรูปถัดมา (ตัวขาสั้นและตัวขี่เรือ) ผลิตโดยบริษัท Bandai ในปีค.ศ. 1964 เช่นกัน โดยตัวของเล่นมีความสูง 23 เซนติเมตร และหนัก 233 กรัม ระบบกลไกบังคับการทำงานใช้ระบบไขลานเช่นเดียวกับชนิดขายาว

  ปัจจุบันค่าความนิยมในการสะสมของเล่นสังกะสีไขลาน

  • Big X ชนิดตัวขายาว มีราคาค่านิยมอยู่ในหลักแสน 
  • ส่วนชนิดตัวขาสั้น และตัวขี่เรือ มีค่านิยมอยู่ที่หลักหมื่นปลายถึงแสน
   ทั้งนี้ค่านิยมดังกล่าวจะแปรเปลี่ยนไปตามสภาพความสมบูรณ์ของของเล่นชิ้นนั้นๆครับ รวมทั้งการมีกล่องเดิมและความสมบูรณ์ของกล่องที่บรรจุนั่นเอง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้